ข่าวจากหนังสือพิมพ์
คาดพายุไต้ฝุ่น “ดอมเรย” บุกอีสาน-เหนืออีกลูก [ผู้จัดการออนไลน์
: 25 ก.ย. 48]
กรมสำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ออกประกาศเตือนภัยฉบับที่ 4 เมื่อเวลา 05:53 น. เรื่อง พายุไต้ฝุ่น “ดอมเรย”
( DAMREY)ในทะเลจีนใต้ตอนบนว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 25 กันยายน 2548 มีศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ
ประเทศจีน ห่างประมาณ 230 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด
113.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมพัดเข้าหาศูนย์กลางสูงสุดประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กำลังเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก คาดว่าพายุนี้จะมีผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย
โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในช่วงวันที่ 26-29 กันยายน
2548
ทั้งนี้ลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้มีฝนตกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น
ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่อง พายุไต้ฝุ่น "ดอมเรย"
ในทะเลจีนใต้ตอนบน เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ
220 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 18.8
องศาเหนือ ลองติจูด 112.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมพัดเข้าหาศูนย์กลางสูงสุดประมาณ
130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก คาดว่า พายุนี้จะมีผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย
ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันที่
27 กันยายน ต่อจากนั้นจะมีฝนเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ในช่วงวันที่
28 - 29 กันยายน 2548 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้
กรมอุตุนิยมวิทยายังรายงานอีกว่า ทิศทางของไต้ฝุ่นดอมเรยใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนวีเซนเต
คือ ทางใต้ของเกาะลูซอน เข้าเกาะไหหลำ กระทบกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน
ทำให้มีฝนน้อยลง จะสลายตัวที่พม่า แต่ปริมาณฝนใกล้เคียงกับวีเซนเต
พายุไต้ฝุ่นดอมเรย เป็นการตั้งชื่อตามภาษาเขมร แปลว่า
ช้าง สำหรับการกำหนดความรุนแรงของพายุ ขึ้นกับความเร็วลมที่พัดเข้าสู่ศูนย์กลางพายุ
โดยพายุดีเปรสชั่น ความเร็วลมต่ำกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุโซนร้อน
ความเร็วระหว่าง 63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากความเร็วลมสูงกว่า 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นพายุไต้ฝุ่น
สำหรับประเทศไทยนาน ๆ ครั้งจึงจะมีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้ามา
.................................
เตือนไต้ฝุ่น 'ดอมเรย' มุ่งเข้าไทย [ ไทยรัฐ : 26 ก.ย. 48 ]
กรมอุตุนิยมวิทยา แถลงเรื่องเตือนภัยจากอิทธิพลของพายุดอมเรยในทะเลจีนใต้ พายุโซนร้อน “ดอมเรย” ได้ทวีกำลังแรงเป็น “พายุไต้ฝุ่นดอมเรย” มีศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออก
ห่างจากเกาะไหหลำ ประเทศจีน 220 กิโลเมตร หรือละติจูด 18.8 องศาเหนือ ลองจิจูด
112.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมพัดเข้าหาศูนย์กลางสูงสุดประมาณ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไต้ฝุ่นดอมเรยกำลังเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตก หลังจากขึ้นฝั่งที่จีนแล้ว
คาดว่าจะพาดผ่านไปยังพม่า
ทิศทางของไต้ฝุ่นดอมเรยใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนวีเซนเต คือ ทางใต้ของเกาะลูซอน
เข้าเกาะไหหลำ กระทบกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ทำให้มีฝนน้อยลง จะสลายตัวที่พม่า
แต่ปริมาณฝนใกล้เคียงกับวีเซนเต ดังนั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวีเซนเตต้องเพิ่มความระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน
น้ำป่าไหลหลาก คาดว่าพายุไต้ฝุ่นดอมเรยจะส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันที่
27 กันยายน ต่อจากนั้นวันที่ 28-29 กันยายน จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก
ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
นอกจากนี้ สภาวะอากาศดังกล่าวยังส่งผลให้คลื่นลมในอ่าวไทย และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นในอัตรา
20-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร
อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นดอมเรยนี้ ยังจะส่งผลให้พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ 30% ของพื้นที่
ต่อมาเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนฉบับที่
6 (63/2548) ถึงสถานการณ์ของพายุไต้ฝุ่นดอมเรยล่าสุดว่า ขณะนี้พายุดังกล่าวอยู่ห่างจากเกาะไหหลำ
ประเทศจีน ไปทางตะวันออกเพียง 200 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 18.8 องศาเหนือ
ลองจิจูด 112.5 องศาตะวันออก ในอัตราความเร็วลม 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
...........................................
'ดอมเรย'ขึ้นฝั่ง! อีสานตอนบนรับมือนํ้าท่วม [ เดลินิวส์ : 27 ก.ย. 48 ]
พายุโซนร้อน “ดอมเรย” ขึ้นฝั่งถล่มญวนเช้าวันนี้ อุตุฯเตือนอีสานตอนบนรับมือน้ำท่วม
ส่วนภาคอื่นมีฝนตกหนักช่วง 27-28 ก.ย. ที่ “เชียงใหม่” ระดมกำลังป้องกันเต็มพิกัดทั้งเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนแม่งัด-ขุดลอกคอง-ทำเขื่อนดินริมน้ำปิง
“เชียงราย” ถนนถูกตัดขาด
เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 26 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งว่า
พายุโซนร้อน “ดอมเรย” บริเวณเกาะไหหลำได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ยแล้ว
โดยเมื่อเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา มีศูนย์กลางทางตะวันออกเฉียงเหนือห่างจาก
จ.นครพนม ประมาณ 420 กม. มีความเร็วพัดเข้าหาศูนย์กลาง 110 กม.ต่อชั่วโมง
กำลังเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก คาดว่าในช่วงเช้าวันที่ 27 ก.ย. 47 จะขึ้นฝั่งทางตอนบนของประเทศเวียดนาม
ระหว่างกรุงฮานอยกับเมืองวิญ ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดฝนตกในภาคอีสานของไทยตั้งแต่คืนวันที่
26 ก.ย. เป็นต้นไป โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร อุดรธานี
และหนองคาย ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ
ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.นี้
ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบน
จ.เชียงใหม่ แจ้งว่าสภาพอากาศตอนนี้ยังแจ่มใสเนื่องจากการเคลื่อนตัวของพายุดอมเรยมาช้า
โดยจะรู้ผลแน่ชัดในช่วงดึกของวันที่ 27 ก.ย. และปัจจุบันระดับน้ำในจุดวัดน้ำเชิงสะพานนวรัฐ
P1 อ.เมืองเชียงใหม่ อยู่ที่ 3.08 เมตร ขณะเดียวกันได้มีการปล่อยน้ำที่เขื่อนแม่งัด
อ.แม่แตง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่มาจากพายุลูกใหม่
โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนคือจังหวัดน่าน
เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ และแม่ฮ่องสอน
..................................................................
'ดอมเรย' พ่นพิษ [ ไทยรัฐ : 29 ก.ย. 48 ]
น้ำป่าได้ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยปลาจุม บ้านป่าเลา ต.แม่หอพระ
อ.แม่แตง และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่บอน ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จนรับไม่ไหว ทำให้อ่างแตกน้ำทะลักท่วมพื้นที่โดยรอบอย่างรวดเร็ว
ส่วน จ.ลำปาง
น้ำท่วมในเขต อ.แจ้ห่ม อ.เมืองปาน และ อ.แม่เมาะ แทบทุกตำบล ยังประเมินความเสียหายไม่ได้
ขณะที่ จ.เชียงราย น้ำป่าจากเทือกเขานางแก้วไหลท่วม ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า
ถนนพหลโยธินช่วงเชียงราย-เชียงใหม่ บริเวณบ้านป่างิ้วระดับน้ำสูงกว่า 60
เซนติเมตร ที่ อ.แม่สรวย
น้ำจากแม่น้ำลาวและจากอ่างเก็บน้ำห้วยบงล้นตลิ่งไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรกว่า
20 หมู่บ้าน ใน ต.ป่าแดด ต.ศรีถ้อย และ ต.แม่สรวย กว่า 500 หลัง นาข้าวอีกกว่า
3,000 ไร่ ถนนสายแม่สรวย-ฝาง ช่วงบริเวณบ้านป่าแดด ที่ อ.พาน น้ำป่าจากเทือกเขาดอยหลวง
ไหลลงมาตามลำน้ำแม่ส้านท่วม ต.ป่าหุ่งกว่า 100 หลัง
ส่วน จ.แพร่ น้ำท่วมในเขต อ.ลอง อ.วังชิ้น
และ อ.เมืองแพร่ บ้านเรือนราษฎรกว่า 600 หลังคาเรือน เสียหาย บางหลังโดนดินถล่มใส่
ได้ประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำยมให้อพยพเพราะระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คาดว่าจะเข้าท่วมตัวเมืองแพร่คืนวันเดียวกัน
ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน น้ำป่าท่วมหลายตำบลของ
อ.ปาย และในเขตเทศบาลเสียหายอย่างหนัก ขณะเดียวกันเขื่อนเมืองน้อยต้องเร่งระบายน้ำออก
เพราะเกรงเขื่อนแตก
ที่ อ.ปางมะผ้า น้ำท่วมหลายหมู่บ้าน ถนนสาย 1095 ระหว่างปางมะผ้า-ปาย ที่ทำสะพานเหล็กชั่วคราวเชื่อมที่สะพานผามอญ
เนื่องจากถูกน้ำท่วมสะพานขาดเมื่อคราวที่แล้ว ปรากฏว่าถูกกระแสน้ำซัดขาดเป็นครั้งที่
2 และน้ำท่วมเป็นช่วงๆ ใกล้จุดชมวิวดอยกิ่วลมดินถล่มขวางถนน ทำให้การเดินทางระหว่างแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า
ใช้ไม่ได้ ในเขต อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ก็ถูกน้ำท่วมหนัก
นอกจากนี้ ถนนทางเข้าหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวเสียหายใช้ไม่ได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.กาฬสินธุ์ น้ำยังท่วมพื้นที่การเกษตรในเขต อ.ยางตลาด
กมลาไสย และกิ่ง อ.ฆ้องชัย เนื่องจากมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลำปาวอย่างต่อเนื่อง
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ เรื่องพายุดอมเรยว่ามีศูนย์กลาง อยู่บริเวณจังหวัดน่าน
คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดน่าน และเชียงรายไปยังพม่า ทำให้ประเทศ ไทยตอนบนมีฝนตกหนัก
ขณะที่กรมทรัพยากร ธรณีประกาศเตือนภัย ดินถล่มบริเวณภาคเหนือ ในเขตจังหวัดน่าน
เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก
สุโขทัย และเลย
..................................................................................
น้ำท่วมภาคเหนือ [ ไทยรัฐ : 1 ต.ค. 48 ]
ที่ จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำในแม่ปิงที่สะพานนวรัฐ มีความสูง
4.93 เมตรมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ได้เริ่มลดระดับลงอย่างช้าๆ เฉลี่ยชั่วโมงละ
1 เซนติเมตร ขณะที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ถนนหลายสายน้ำยังท่วมสูง ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์
ถนนช้างคลาน น้ำท่วมตลอดสาย นักท่องเที่ยวพากันคืนห้องพัก เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้
นอกจากนี้
น้ำได้ไหลเข้าท่วมถนนรอบสถานีรถไฟเชียงใหม่และไหลเข้ามายังตัวสถานีแล้ว และยังท่วมรางรถไฟระหว่างสถานีสารภีกับเชียงใหม่เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ต้องหยุดเดินรถและใช้รถบัสขนผู้โดยสาร
โดยให้รวมกันที่สี่แยกโรงแรมปอยหลวงในตัวเมืองเชียงใหม่ก่อนพาไปยังสถานีรถไฟลำพูน
สำหรับขบวนรถไฟที่ปลายทางอยู่ที่เชียงใหม่จะไปได้แค่ จ.ลำพูน สำหรับขาล่องจะเริ่มจากลำพูน
ส่วน จ.ลำปาง น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายสิบปีบางจุดสูงเกือบ 2 เมตร แต่ระดับน้ำเริ่มทรงตัว
เพราะเขื่อน กิ่วลมลดการระบายน้ำให้ช้าลง สะพานข้ามแม่น้ำวังหลาย แห่งยังใช้ไม่ได้
ที่ อ.เกาะคา สะพานขาดหลายแห่ง
ที่ จ.เชียงราย ฝนยังคงเทกระหน่ำทั้งคืน ทำให้มีน้ำป่าจากดอยต่างๆไหลลงแม่น้ำลาวระดับเพิ่มสูงขึ้น
แต่ ถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ น้ำลดระดับลงจนสามารถผ่านไปมาได้ ที่ อ.แม่สรวย
น้ำป่าและน้ำจากเขื่อนแม่สรวย ไหลท่วมพื้นที่ ต.แม่สรวย โดยเฉพาะในเขตเทศบาล
ที่ว่าการอำเภอแม่สรวย สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สรวย และตลาดสดแม่สรวย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำลาวถูกน้ำท่วมสูงกว่า
50 เซนติเมตร
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศว่า แนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมตะวันออก
พัดผ่านภาคกลางและภาคเหนือ ทำให้มีฝนหนาแน่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง
จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มและที่ลาดเชิงเขาในพื้นที่เสี่ยงภัยของ
จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตาก อุตรดิตถ์ และอุดรธานี ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
และน้ำล้นตลิ่งต่อไปอีก 1-2 วัน ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผลร้อยละ
60 ของพื้นที่
................................................................
ลำปางจมทะเลโคลน ชาวบ้านแย่งนํ้าประปา [ ไทยรัฐ : 2 ต.ค. 48 ]
จ.เชียงราย ระดับน้ำในแม่น้ำลาวเพิ่มสูงขึ้น อย่างรวดเร็วจนคันดินกั้นแม่น้ำลาว
ซึ่งเป็นคันเดินเสริมแนวตลิ่ง ป้องกันน้ำท่วม ที่เสริมกั้นสูงจากระดับตลิ่ง
ขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร บริเวณ ต.ท่าสาย อ.เมืองเชียงราย เกิดพังทลายลงเนื่องจาก
กระแสน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จนล้นแนวป้องกัน ทำให้กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากไหลบ่า
เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ในพื้นที่ ต.ท่าสาย ต.สันทราย ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย
บางจุดมีระดับน้ำลึกกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะที่ ต.ท่าสาย มีบ้านเรือนชาวบ้านอยู่ในที่ต่ำประมาณ
20 หลังคาเรือน ต้องจมอยู่ ใต้น้ำ ส่วนพื้นที่ ต.ดงมะดะ จำนวน 25 หมู่บ้าน
มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมไปแล้ว 2,000 หลังคาเรือน นาข้าวอีกกว่า 3,500 ไร่
ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 80 ซม. จนถึง 1.50 เมตร
ส่วนที่ อ.เวียงป่าเป้า ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พื้นที่ อ.แม่สรวยยังคงมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรอยู่ประมาณ
1,000 หลังคาเรือน ขณะเดียวกัน ระดับแม่น้ำกก
ซึ่งไหลมาจาก อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ผ่านเข้าสู่เขต อ.เมืองเชียงราย
เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่าอาจจะเอ่อล้นเข้าท่วมตัวเมืองเชียงรายอีกรอบ
ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำในตัวเมืองเชียงใหม่ตลอดคืนวันที่
30 ก.ย.น้ำได้ไหลทะลักออกจากตัวเมืองเข้าท่วมหมู่บ้านต่างๆโดยเฉพาะหมู่บ้านบ้านล้อมน้ำ
อ.สารภี และน้ำคงจะท่วมขังไปอีกจนถึงวันที่
2 ต.ค. จากนั้นคงจะลดระดับลงเรื่อยๆจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในอีก 1-2 วันหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม
ระดับน้ำแม่น้ำปิงเชิงสะพานนวรัฐ เริ่มลดระดับลงจากระดับสูงสุดที่ 4.93 เมตร
เหลือเพียง 4.69 เมตร
ที่ จ.ลำปาง ในเขตเทศบาลนครลำปาง ระดับน้ำได้ลดลงจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ทิ้งไว้ แต่ดินโคลนเต็มเมือง
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานสภาพอากาศทั่วไปว่า มีแนวลมพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และ
ลมตะวันออกพัดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนาแน่นในหลายจังหวัด
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา กาญจนบุรี
สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี จันทบุรี ตราด เพชร-บุรี
ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย
60% ของพื้นที่
|