ข่าวจากหนังสือพิมพ์
เหนือวิปโยคท่วมหนักรอบ38ปี คาด100ศพ ข้อมูล"สาธารณสุขอุตรดิตถ์" [ มติชน : 24 พ.ค. 49 ]
จ.อุตรดิตถ์ ฝนเริ่มตกหนัก ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม ที่บ้านผามูบ หมู่ 7 และบ้านมหาราช หมู่ 11 ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ทำให้ดินจากภูเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้านถล่มลงมาทับบ้านเรือน 2 หมู่บ้านกว่า 90 หลัง
ที่ ต.น้ำริด ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ น้ำป่าพัดบ้านเรือนหายไปกว่า 30 หลัง ขณะที่ถนนพิษณุโลก-เด่นชัย หมู่ 4 ต.บ้านด่านนาขาม ถูกน้ำท่วมสูงราว 1 เมตร สำหรับ ต.ท่าอิฐ ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเช่นกัน มีน้ำที่หลากจาก ต.น้ำริด ต.บ้านด่านนาขาม และ อ.ลับแล ไหลมาสมทบท่วมสูงตั้งแต่ 1-3 เมตร โดยเฉพาะถนนเจษฎาบดินทร์ ระดับน้ำสูงกว่า 5 เมตร ศาลากลางจังหวัด และส่วนราชการถูกน้ำท่วมทั้งหมด
ที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้รับความเสียหายหนักเช่นกัน เมื่อน้ำจากฝายหลวง ต.ฝายหลวง อ.ลับแล ไหลเข้าท่วมบ้านนาทะเล ต.ชัยชุมพล อ.ลับแล และบ้านทุ่งยั้ง ไผ่ล้อม ดงสระแก้ว ต.ไผ่ล้อม สูงประมาณ 2.5 เมตร มีบ้านเรือนและไร่นาจมอยู่ใต้น้ำ 2,000 ไร่
มีรายงานจากมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์แจ้งว่า ในเขตเทศบาลตำบลหัวดง อ.ลับแล มีผู้สูญหายประมาณ 200 คน และพบศพเป็นชาย 2 ศพ ที่หน้าเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อ.ลับแล และมีเหตุโคลนถล่มที่บ้านผาโมก และบ้านห้วยใต้ ต.แม่พลู อ.ลับแล พบแล้ว 8 ศพ แต่ไม่สามารถนำออกมาได้ เนื่องจากดินโคลนหนามาก ส่วนที่บ้านน้ำต๊ะ น้ำรี ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา เกิดโคลนถล่มทับหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 10 ศพ
ที่ จ.แพร่ ฝนตกหนักกลางดึกวันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม ทำให้น้ำป่าทะลักท่วมบ้านเรือนใน ต.ป่าแดง อ.เมือง ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น และ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย กว่า 200 หลัง โดยเฉพาะ ต.ร่องกาศ ระดับน้ำสูงถึง 1.50 เมตร น้ำป่ายังได้ไหลท่วมถนนแพร่-น่าน ทางผ่านไป จ.พะเยา น่าน และเชียงราย จนถูกตัดขาด
ที่ จ.น่าน บ้านเขาน้อย ต.ดู่ใต้ บ้านฟ้าใหม่ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง ถูกน้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านยาบนาเลิม ต.แม่ขะนิง และบ้านศรีนาชื่น ต.ทุ่งศรีทอง อ.เวียงสา ส่วนที่ ต.ปิงหลวง นะทะนุง และบ่อแก้ว อ.นาหมื่น ดินคอสะพานถูกน้ำกัดเซาะ 3 แห่ง รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถสัญจรได้ ราษฎรเดือดร้อน 140 ครัวเรือน
ที่ จ.สุโขทัย เกิดฝนตกหนักน้ำบ่าท่วมที่ ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย หลังอ่างเก็บน้ำบ้านภูนกไม่สามารถรับน้ำจากเทือกเขาได้อีกพังทลายลง ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมทั้ง 14 หมู่บ้าน พร้อมโคลนถล่มจากบ้านดงย่าปาและห้วยตม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญหาย 5 คน ขณะที่น้ำไหลบ่าเข้าท่วมถนนศรีสัชนาลัย-เด่นชัย ระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร โดยน้ำได้ไหลเข้าสู่เขตเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย และลงสู่แม่น้ำยม
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักใน จ.อุตรดิตถ์ ถือว่าทำลายสถิติรอบ 38 ปี โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2511 มีปริมาณฝนวัดได้ 206.4 มิลลิเมตร แต่ครั้งนี้ในเขต อ.เมือง วัดได้ 263.7 มิลลิเมตร และที่ อ.ลับแล วัดได้ 330 มิลลิเมตร อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะน้ำท่วมขังสูงมาก โดย อ.ตรอน อ.น้ำปาด มีปริมาณฝนตั้งแต่ 69-100 มิลลิเมตรเช่นเดียวกัน
................................................................................................
ในหลวงสั่ง 3 ทัพช่วย [ ข่าวสด : 25 พ.ค. 49 ]
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. สำนักราชเลขาธิการ ได้ออกแถลงการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยอย่างมาก กรณีราษฎรประสบอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือตอนกลาง เนื่องจากเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.แพร่ จ.ลำปาง และจ.น่าน เมื่อเย็นวันที่ 23 พ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ร่วมมือกันดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอย่างเร่งด่วน โดยทั้งสามเหล่าทัพได้รับสนองกระแสพระราชดำริในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้อย่างเร่งด่วนต่อไปแล้ว
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้ังถึงสาเหตุการเกิดน้ำท่วมดินถล่มในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ว่า จากสภาพพื้นที่ของจ.อุตรดิตถ์ ที่มีภูเขาล้อมรอบ มีหน้าผาสูงชัน รวมทั้งสภาพดินที่เป็นดินร่วน เมื่อ เกิดฝนตก มีปริมาณมากถึง 330 มิลลิเมตรต่อวัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 38 ปี ทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำจำนวนมากไว้ได้ จึงเกิดน้ำเอ่อพัดโคลนและต้นไม้ถล่มบ้านเรือนชาวบ้านอย่างรุนแรง
ล่าสุดกรมทรัพยากรธรณีได้ออกประกาศเตือนเพิ่มเติมขอให้ประชาชนในพื้นที่ภูเขาสูงเขตภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ และจังหวัดใกล้เคียง ตรวจเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 2-3 วัน โดยเฉพาะในเขตอ.แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง จ.ตาก เขตอ.เมือง สบเมย แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย แม่แจ่ม ไชยปราการ ฝาง จ.เชียงใหม่ อ.วังชิ้น ลอง เด่นชัย สอง จ.แพร่ อ.เชียงม่วน ปง เชียงคำ กิ่งอ.ภูซาง จ.พะเยา และอ.เมือง แม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สาย แม่สรวย ดอยหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาระบุว่าร่องความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนตัวจากภาคเหนือตอนล่างขึ้นสู่ภาคเหนือตอนบนแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางซึ่งอาจเกิดดินไหลมาปิดทับเส้นทาง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยและความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้แล้ว จำนวน 30 คน (อุตรดิตถ์ 22 คน, สุโขทัย 7 คน, แพร่ 1 คน) สูญหาย 77 คน (อุตรดิตถ์ 75 คน, แพร่ 2 คน) มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 103,355 คน 34,100 ครัวเรือน สำหรับด้านทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ ถนน 80 สาย สะพาน 28 แห่ง พื้นที่การเกษตร 31,619 ไร่ วัด/โรงเรียน/สถานที่ราชการ 25 แห่ง บ้านเรือนประชาชน 178 หลัง พนังกั้นน้ำ 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 31 แห่ง ได้รับความเสียหาย
ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลง แต่ยังคงมีพื้นที่ที่ยังประสบภัย จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ และสุโขทัย โดยที่จ.อุตรดิตถ์ ยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ลับแล ยังมีน้ำท่วมขังใน 8 ตำบล ได้แก่ ต.ชัยจุมพล, ด่านแม่คำมัน, ทุ่งยั้ง, นานก-กก, ฝายหลวง, แม่พูล, ไผ่ล้อม และเทศบาล ต.ศรีนพมาศ แม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลง แต่ในพื้นที่ลุ่มยังคงมีน้ำท่วมขัง ระดับน้ำสูงประมาณ 0.2-0.4 เมตร มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 25 ราย บาดเจ็บสาหัส 12 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 800 คน บ้านเรือนประชาชนเสียหายทั้งหลัง 44 หลัง เสียหายบางส่วน 800 คน อ.ท่าปลา มีน้ำขังใน 7 ตำบล ประกอบด้วย ต.ท่าปลา, น้ำหมัน, จริม, ร่วมจิต, นางพญา, หาดล้า และท่าแฝก ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว มีผู้เสียชีวิต 7 ราย สูญหาย 50 ราย อ.เมือง เกิดน้ำท่วมใน 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.น้ำริด, ท่าเสา, บ้านด่านนาขาม และเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ขณะนี้ระดับน้ำได้เริ่มลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังสูง ทำให้บริเวณ ถ.บรมอาจ รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย (ต.น้ำริด)
จ.สุโขทัย มีพื้นที่ประสบภัย 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม, บ้านด่านลานหอย, ศรีสัชนาลัย, สวรรคโลก และศรีสำโรง โดยที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม และบ้านด่านลานหอย น้ำได้เอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.2-0.3 เมตร อ.สวรรคโลก น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในหลายตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 0.5 เมตร และอ.ศรีสำโรง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ที่ต.นาขุนไกร, ราวต้นจันทร์, บ้านไร่, บ้านซ่าน ระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจาก อ.เถิน จ.ลำปาง และอ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ส่วนที่อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ยังมีน้ำท่วมขัง 6 ตำบล ได้แก่ ต.บ้านตึก, แม่สิน, ศรีสัชนาลัย, สารจิตร และดงคู่ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,560 หลังคาเรือน ต้องอพยพประชาชนประมาณ 1,500 คน ไปยังที่ปลอดภัย บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 52 หลัง และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย
สำหรับ จ.ลำปาง แพร่ และน่าน สถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายแล้ว ส่วนความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตากว่า เมื่อเวลา 04.00 น.วันเดียวกัน ได้เกิดเหตุเขื่อนชะลาดระฆัง หมู่ที่ 4 ต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งเป็นเขื่อนดินเกิดแตก ทำให้น้ำประมาณ 1 ล้านลบ.ม. ทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 4, 5, 6 ต.โป่งแดง อ.เมืองตาก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกว่า 900 ครอบครัว นาข้าวเสียหายนับหมื่นไร่ ฝูงวัวสูญหายไปกับกระแสน้ำกว่า 100 ตัว ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายไปอยู่บนพื้นที่สูง
เขื่อนชะลาดระฆังสร้างโดยกรมชลประทาน เมื่อปีพ.ศ.2540 ลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่สร้างปิดกั้นเขามะเขือ สามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 1 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้ในการชลประทานและการเกษตรกว่า 35,000 ไร่ รวมทั้งใช้ในการทำประปาหมู่บ้านในพื้นที่ ต.โป่งแดง อ.เมืองตาก และส่วนหนึ่งระบายน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรใน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย สาเหตุที่พังทลายเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามาก โครงสร้างของเขื่อนที่เป็นดินไม่สามารถรองรับน้ำปริมาณมากได้ ถูกกัดเซาะบริเวณใต้ฐานเขื่อนจึงทำให้เกิดการพังทลาย ความเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
จากการพังทลายของเขื่อนชะลาดระฆังครั้งนี้ทำให้ในฤดูแล้งปี 2550 ชาวบ้านจะขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม เนื่องจากหลังฤดูทำนาชาวบ้านจะทำการปลูกพริกพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและราคาสูงในขณะนี้ มีพื้นที่ปลูกทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนชะลาดระฆังหล่อเลี้ยง จะทำให้ไม่มีน้ำในการหล่อเลี้ยงไร่พริก คาดว่าเกษตรกรจะสูญรายได้ครอบครัวละกว่า 40,000-50,000 บาท นอกจากนี้ ยังขาดแคลนน้ำทำประปาหมู่บ้าน สร้างความเดือดร้อนอย่างกว้างขวาง
...........................................................................................................
ในหลวงทรงแนะ "3เหล่าทัพ" เร่งแก้สื่อสาร [ มติชน : 26 พ.ค. 49 ]
เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าเฝ้าฯเพื่อถวายรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่วังไกลกังวล หัวหิน พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพความว่า "ที่สำคัญที่สุดทั้ง 3 เหล่าทัพช่วยได้คือให้เอาเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสารลงไปในพื้นที่ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือติดต่อไม่ได้ มือถือใช้ในป่าไม่ได้ แต่ 3 ทัพมีเครื่องมือสื่อสารที่จะใช้ได้ก็เอาเข้าไป เช่น วิทยุ ตั้งเป็นศูนย์ เอาวิทยุเล็กๆ ไปใช้ กองทัพอากาศนำเครื่องบินสื่อสารขึ้นไป สามารถติดต่อได้ รถสื่อสารของกองทัพบกเช่นกัน เคยทำมาเมื่อ 20-30 ปีแล้ว ใช้วิทยุเล็กไม่ถึง 1 วัน ก็ติดต่อจากโคราชกลับกรุงเทพฯได้ เหตุการณ์อย่างนี้ภาคเหนือก็เคยมี แถวหล่มสัก (จ.เพชรบูรณ์) ก็เคยมี ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ฯก็เคยมี แต่ไม่ได้ใช้ ไปใช้การสื่อสารสมัยใหม่
ีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด ว่าจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 48 คน (อุตรดิตถ์ 41 คน, สุโขทัย 3 คน, แพร่ 4 คน) สูญหาย 66 คน (อุตรดิตถ์ 62 คน, สุโขทัย 2 คน, แพร่ 2 คน) มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 121,380 คน 39,460 ครัวเรือน ด้านทรัพย์สิน ถนนเสียหาย 80 สาย สะพาน 28 แห่ง พื้นที่การเกษตร 31,619 ไร่ สถานที่ราชการ 25 แห่ง และมีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายทั้งหลัง 366 หลัง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาหลังเกิดน้ำท่วมหนัก ดังนี้ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ มีเกษตรกรประสบภัยรวม 785 ราย พื้นที่การเกษตร 201,314 ไร่ ปศุสัตว์ มีสุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ ผู้ประสบภัย 15,521 ราย มีสัตว์ได้รับผลกระทบ 87,208 ตัว ประมง พื้นที่ประสบภัยที่ จ.แพร่ ผู้ประสบภัย 202 ราย พื้นที่ 101 ไร่ รวม 202 บ่อ
ที่ จ.พะเยา พื้นที่เสี่ยงภัยต่อโคลนถล่ม มี 47 หมู่บ้าน ที่เป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย อ.เมือง อ.จุน อ.ปง อ.เชียงคำ อ.เชียงม่วน กิ่ง อ.ภูซาง ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่ราบสูง และประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภูเขาสูง คือ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ และจังหวัดใกล้เคียง ตรวจเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะ 2 ถึง 3 วันนี้ โดยเฉพาะใน จ.พะเยา พบพื้นที่ต้องเฝ้าระวังภัยคือ อ.เมือง อ.เชียงม่วน อ.ปง อ.เชียงคำ กิ่ง อ.ภูซาง ด้วยขณะนี้ร่องความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนตัวจากภาคเหนือตอนล่างขึ้นสู่ภาคเหนือตอนบนแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว
ส่วนที่ จ.พิษณุโลก กรมชลประทาน สั่งให้ทางเขื่อนนเรศวร เปิดประตูระบายน้ำทุกบาน เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่ออกโดยเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านมากถึง 800-900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ขณะที่ปริมาณกักเก็บน้ำของลุ่มแม่น้ำน่าน ตั้งแต่เขื่อนนเรศวรลงไปจนถึง จ.นครสวรรค์ ยังสามารถรองรับการไหลของน้ำได้มากถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านไม่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่สูงขึ้นในขณะนี้
ที่ จ.สุโขทัย ฝนยังคงตกหนักทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าท่วมพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ทำให้ถนนหนทางจมอยู่ใต้น้ำรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนที่ จ.ลำปาง น้ำป่าได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ต.แม่ปะ และ ต.แม่วะ อ.เถิน โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ อ.วังชิ้น อ.ลอง จ.แพร่ ได้ไหลหลากเข้าลำห้วยแม่ปะ และท่วมหมู่บ้านในเขต อบต.แม่ปะ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแม่ปะหลวง และหมู่ 7 บ้านแม่ปะดอย เป็นระลอกที่ 2 ทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยกว่า 200 หลังคาเรือน และนาข้าวกว่า 1,500 ไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหาย ส่วนพื้นที่ตำบลแม่วะพบน้ำป่าไหลบ่าท่วมหมู่บ้านในเขต อบต.แม่วะ 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแม่วะแล้ง และหมู่ 8 บ้านแม่วะท่าช้าง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วม กว่า 300 หลังคาเรือน และพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 1,000 ไร่ ระดับน้ำที่สูงถึง 1.50 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีขึ้นที่สูง
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ แจ้งว่า เรดาร์อุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ ตรวจพบกลุ่มฝนหรือฝนฟ้าคะนองกำลังปานกลาง และฝนหนักบางแห่ง ในพื้นที่ 14 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย 4 อำเภอ จ.ลำพูน 6 อำเภอ จ.ลำปาง 12 อำเภอ จ.แพร่ 4 อำเภอ บางส่วนของ จ.ตาก และ จ.สุโขทัย ขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าใกล้ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ แล้วและคาดว่าจะตกต่อเนื่องต่อไปอีก อาจทำให้เกิดอุทกภัยเพิ่มขึ้นได้ในบริเวณดังกล่าว
นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ และมีโคลนถล่ม เกิดจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดไอน้ำระเหยในชั้นบรรยากาศเป็น 2 เท่า ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วม ปัญหาดังกล่าวต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี ต่อไปเหตุการณ์จะรุนแรง และมีบ่อยขึ้น เหมือนในสหรัฐอเมริกา
นายสมิทธระบุว่า นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สภาพอากาศในโลกจะเกิดความแปรปรวนมากยิ่งขึ้น ในเดือนที่มีพายุจะเกิดถี่ ฤดูแล้งจะร้อนมากขึ้น ดังนั้น จะต้องทำระบบเตือนภัยที่มีมาตรการเตือนภัยที่ดี เข้าถึงประชาชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยในส่วนของประเทศไทย ในตอนนี้คงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบเตือนภัย และอาจจะต้องเตือนภัยผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจไปก่อนจนกว่าระบบเตือนภัยที่ติดตั้งทั่วประเทศจะเสร็จสมบูรณ์ คงต้องขออนุมัติจากรัฐบาล รวมไปถึงวิทยุ และส่งผ่านเอสเอ็มเอส
นายสมิทธกล่าวยอมรับว่า อาจต้องโยกย้ายแผนและระบบเตือนภัยใน 14 จังหวัดฝั่งอันดามัน ที่มีความเสี่ยงน้อยไปติดตั้งในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม และจะต้องเร่งติดตั้งให้เสร็จเร็วขึ้น สำหรับการเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณีคงไม่เพียงพอเนื่องจากอยู่ในวงจำกัด การเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยแห่งชาติจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ในส่วนของประชาชนก็ต้องรับฟังการเตือนภัยและให้ความสนใจมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสียลงและทุกจังหวัดก็ต้องฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ในส่วนระดับจังหวัดและท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต. ต้องให้ความสนใจการเตือนของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมากขึ้น
|