จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงตลอดทั้งสัปดาห์ โดยพายุไห่ขุยและคีโรบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่ถึงแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่กลับทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณใกล้เคียงมีกำลังแรง ส่งผลให้ร่องมรสุมและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 1-4 ก.ย. 66 เกิดฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน โดยสามารถวัดปริมาณฝนรายวันสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดตรัง 627 มิลลิเมตร ตราด 496.6 มิลลิเมตร จันทบุรี 256 มิลลิเมตร ระนอง 231.4 มิลลิเมตร และพังงา 218.2 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี พังงา และสตูล รวมทั้งสิ้น 14 อำเภอ 36 ตำบล 146 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,561 ครัวเรือน อีกทั้งยังส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสม (วันที่ 29 ส.ค. - 4 ก.ย. 66) ของเขื่อนสิรินธรสูงถึง 183 ล้านลูกบาศก์เมตร และสูงสุดในวันที่ 1 ก.ย. 66 ถึง 103 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนรัชชประภาน้ำไหลลงเขื่อนสะสม (วันที่ 2-4 ก.ย. 66) สูงถึง 152 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนภูมิพลน้ำไหลลงเขื่อนในวันที่ 4 ก.ย. 66 สูงถึง 29 ล้านลูกบาศก์เมตร
|
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 กันยายน 2023 เวลา 16:04 น. |