english

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำมาโดยตลอด ทรงให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำ ในปี พ.ศ. 2538 เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ทรงพบว่าข้อมูลน้ำขาดการบูรณาการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วางแผนพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย เกิดเป็น “โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย” มีนายเชาวน์ ณศีลวันต์ องคมนตรี เป็นประธานโครงการ และมอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. ซึ่งในขณะนั้นเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รับผิดชอบดำเนินการพัฒนาระบบ ปี พ.ศ. 2541 เริ่มพัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมต่อและเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรน้ำ เริ่มจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2545 และได้ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจพัฒนาและบริหารจัดการน้ำ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย






ต่อมาได้นำข้อมูลสารสนเทศน้ำจากระบบดังกล่าว พัฒนาเป็นเว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather901 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงติดตามสถานการณ์น้ำผ่านเว็บไซต์เป็นประจำ ทำให้ทรงทราบสถานการณ์ฝนและน้ำอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมากว่า 10 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ขึ้น เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552
คอมพิวเตอร์แม่ข่ายชุดปฐมฤกษ์ (Weather901)



พัฒนาสู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ

ปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร หรือ สสนก. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ขยายผลรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาที่ดิน และ กรมทรัพยากรธรณี เกิดเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ”

english

ข้อมูลเริ่มต้นจาก 12 หน่วยงาน ในระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ



ปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลมอบหมายให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ขยายการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเป็น 35 หน่วยงาน ปัจจุบันมีข้อมูลทั้งหมด 388 รายการ ทั้งข้อมูลติดตามสภาพอากาศ เช่น เส้นทางพายุ ภาพถ่ายจากดาวเทียม การติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศจากค่าความสูงน้ำทะเลและอุณหภูมิผิวน้ำทะเล แผนภาพคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลองสภาพอากาศ และข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำ เช่น ข้อมูลฝนตกในพื้นที่ ปริมาณและระดับน้ำในเขื่อน เส้นทางและผังการระบายน้ำ แสดงปริมาณการไหลของน้ำที่ตำแหน่งต่างๆ ระดับน้ำในแม่น้ำและลำน้ำสายสำคัญ สำหรับใช้ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ได้นำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในภาวะวิกฤตหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 เหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อเดือนธันวาคม 2559 และเดือนมกราคม 2560 โดยใช้ข้อมูล ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์แนวทางบรรเทาอุทกภัย และเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถวางแผนรับมือสถานการณ์และแจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็ว ช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากอุทกภัยได้เป็นอย่างดี



คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ

เปิดให้บริการข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net และ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบปฏิบัติการ ios และ android ชื่อ "ThaiWater" ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศด้วยตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา



english

คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ (ThaiWater)


คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ความร่วมมือจาก 35 หน่วยงาน

  1. กรมชลประทาน
  2. กรมอุตุนิยมวิทยา
  3. กรมทรัพยากรน้ำ
  4. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
  5. กรมเจ้าท่า
  6. กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
  7. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
  8. สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
  9. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  10. กรุงเทพมหานคร
  11. กรมพัฒนาที่ดิน
  1. กรมทรัพยากรธรณี
  2. การประปาส่วนภูมิภาค
  3. กรมป้องกันและบรรเทา
  4. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
  5. กรมควบคุมมลพิษ
  6. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  7. การประปานครหลวง
  8. กรมทางหลวง
  9. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
  10. สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  11. กรมแผนที่ทหาร
  12. กรมป่าไม้
  1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  2. สํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
  3. สำนักงบประมาณ
  4. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
  5. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  6. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  7. กรมโยธาธิการและผังเมือง
  8. กรมโรงงานอุตสาหกรรม
  9. การนิคมอุตสาหกรรม
  10. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  11. กรมทางหลวงชนบท
  12. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)


สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
เลขที่ 901 ถนนงามวงศ์วาน  แขวงลาดยาว เขตจตุจักร  กรุงเทพมหานคร 10900
02 158 0901,     02 158 0910     : info_thaiwaterhaii.or.th
ขอขอบคุณ
กรมชลประทาน กรมฝนหลวง กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด
สถิติเว็บไซต์

Copyright © 2016 | HII - All rights reserved.