การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง |
หน้า 1 จาก 6 จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เกิดผลกระทบทางทางเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศแก่ประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยสถาบันฯ ได้จัดทำคู่มือฉบับนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีการดูข้อมูลเพื่อคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น 3-7 วันล่วงหน้า และสามารถติดตามสภาพอากาศในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำจะทันเหตุการณ์และเป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าผู้อ่านได้ใช้ข้อมูลเองและติดตามกับสถานการณ์จริงในพื้นที่
การคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น 1.คาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น (3-7 วัน) ดูจากอะไร ? “ดูจากแผนที่ลม และ แผนที่ฝน” แผนที่ลม: ลมเป็นกระบวนการหลักในการเกิดฝน ลมหอบเอาความชื้นในทะเลมาก่อตัวเป็นเมฆฝน และพัดเข้าสู่ฝั่ง แผนที่ลมแสดงการพยากรณ์ทิศทางและความเร็วลม ซึ่งจะบอกถึงบริเวณที่น่าจะเกิดพายุ ลมกระโชกแรง และมีฝน (ดูเกณฑ์ความเร็วลมที่ภาคผนวก ก) แผนที่ฝน:ฝนเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศเป็นหยดน้ำ เนื่องจากแนวปะทะของลมร้อนและลมเย็น ลมปะทะภูเขา อากาศร้อนลอยตัวสูงจนไอน้ำกลั่นตัว หรือ เนื่องจากมลพิษในอากาศ แผนที่ฝนบอกว่าจะมีฝนตกที่ใดบ้าง และจะตกหนักมากน้อยแค่ไหน (ดูเกณฑ์ปริมาณฝนที่ภาคผนวก ก) 2.ดูแผนที่ลมและแผนที่ฝนอย่างไร? ข้อมูลมาจากที่ไหน? 2.1 แผนที่คาดการณ์ลมล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลอง WRF แสดงถึงข้อมูลคาดการณ์ทิศทางและความเร็วลมรายชั่วโมงในอีก 7 วันข้างหน้า ดังภาพที่ 1 ความละเอียดระดับจังหวัด ภาพที่ 1 แผนภาพคาดการณ์ลม โดย สสนก. 2.2 แผนที่คาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลอง WRF สามารถบ่งบอกได้ว่าในอีก 7 วันข้างหน้าจะมีฝนตกที่ใดบ้าง และจะตกหนักมากน้อยแค่ไหน ดังภาพที่ 2 โดยแถบสีที่เรียงจากสีเขียวไปหาสีชมพูที่อยู่ด้านล่างของภาพบอกถึงปริมาณฝนที่ตก หน่วยเป็นมิลลิเมตร ความละเอียดระดับจังหวัด เลือกดูได้ทั้งข้อมูลรายวันและรายชั่วโมง
|
||||||||
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2016 เวลา 14:24 น. |