การติดตามสภาพอากาศด้วยตนเอง |
จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เกิดผลกระทบทางทางเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศแก่ประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยสถาบันฯ ได้จัดทำคู่มือฉบับนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีการดูข้อมูลเพื่อคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น 3-7 วันล่วงหน้า และสามารถติดตามสภาพอากาศในปัจจุบันได้ ทั้งนี้ การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำจะทันเหตุการณ์และเป็นประโยชน์ที่สุด ถ้าผู้อ่านได้ใช้ข้อมูลเองและติดตามกับสถานการณ์จริงในพื้นที่
การคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น 1.คาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น (3-7 วัน) ดูจากอะไร ? “ดูจากแผนที่ลม และ แผนที่ฝน” แผนที่ลม: ลมเป็นกระบวนการหลักในการเกิดฝน ลมหอบเอาความชื้นในทะเลมาก่อตัวเป็นเมฆฝน และพัดเข้าสู่ฝั่ง แผนที่ลมแสดงการพยากรณ์ทิศทางและความเร็วลม ซึ่งจะบอกถึงบริเวณที่น่าจะเกิดพายุ ลมกระโชกแรง และมีฝน (ดูเกณฑ์ความเร็วลมที่ภาคผนวก ก) แผนที่ฝน:ฝนเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศเป็นหยดน้ำ เนื่องจากแนวปะทะของลมร้อนและลมเย็น ลมปะทะภูเขา อากาศร้อนลอยตัวสูงจนไอน้ำกลั่นตัว หรือ เนื่องจากมลพิษในอากาศ แผนที่ฝนบอกว่าจะมีฝนตกที่ใดบ้าง และจะตกหนักมากน้อยแค่ไหน (ดูเกณฑ์ปริมาณฝนที่ภาคผนวก ก) 2.ดูแผนที่ลมและแผนที่ฝนอย่างไร? ข้อมูลมาจากที่ไหน? 2.1 แผนที่คาดการณ์ลมล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลอง WRF แสดงถึงข้อมูลคาดการณ์ทิศทางและความเร็วลมรายชั่วโมงในอีก 7 วันข้างหน้า ดังภาพที่ 1 ความละเอียดระดับจังหวัด ภาพที่ 1 แผนภาพคาดการณ์ลม โดย สสนก. 2.2 แผนที่คาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน จากแบบจำลอง WRF สามารถบ่งบอกได้ว่าในอีก 7 วันข้างหน้าจะมีฝนตกที่ใดบ้าง และจะตกหนักมากน้อยแค่ไหน ดังภาพที่ 2 โดยแถบสีที่เรียงจากสีเขียวไปหาสีชมพูที่อยู่ด้านล่างของภาพบอกถึงปริมาณฝนที่ตก หน่วยเป็นมิลลิเมตร ความละเอียดระดับจังหวัด เลือกดูได้ทั้งข้อมูลรายวันและรายชั่วโมง
การติดตามสภาพอากาศปัจจุบัน ติดตามได้จากข้อมูลหลักๆ คือ สถานการณ์พายุ สภาพเมฆฝน แผนที่อากาศ คลื่นทะเล และสถานการณ์ฝน หรือสภาพอากาศอื่นๆ ที่ตรวจวัดด้วยสถานีภาคพื้นดิน ภาพที่ 3 ภาพเส้นทางพายุ โดย University College London
2)ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9 แสดงกลุ่มเมฆบริเวณประเทศไทย (ภาพที่ 4) หากมีกลุ่มเมฆกระจุกตัวกันอย่างหนาแน่นมากบริเวณใด โอกาสที่จะเกิดฝนในบริเวณนั้นก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย ภาพที่ 4 ภาพถ่ายจากดาวเทียม FGOES9 โดย Kochi University
3)ภาพแผนที่อากาศ แสดงแนวความกดอากาศสูง หรือแสดงตัว “H” ซึ่งบ่งบอกถึงความหนาวเย็นและอากาศแห้ง และแนวความกดอากาศต่ำ หรือแสดงตัว “L” ซึ่งบ่งบอกถึงความร้อนและอากาศชื้น (ภาพที่ 5) แสดงเวลาเป็น GMT ภาพที่ 5 ภาพแผนที่อากาศ โดย กรมอุตุนิยมวิทยา
4)แผนภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล แสดงความสูงและทิศทางของคลื่นในทะเลบริเวณต่างๆ (ภาพที่ 7) โดยบริเวณใดที่มีกลุ่มคลื่นสูงต่างจากบริเวณใกล้เคียง บริเวณนั้นมักจะมีฝนฟ้าคะนองหรือพายุเกิดขึ้น ภาพที่ 6 แผนภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล โดย Ocean Weather inc.
5)ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาจากสถานีภาคพื้นดิน ได้แก่ ข้อมูลจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ของ สสนก. แสดงข้อมูลปริมาณฝน 24 ชม. และข้อมูลย้อนหลัง (ภาพที่ 7) และข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา แสดงข้อมูลปริมาณฝนอุณหภูมิ ความเข้มแสง ความชื้นสัมพัทธ์ และความเร็วลม (ภาพที่ 8)
ภาพที่ 7 ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ โดย สสนก. ภาพที่ 8 ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศ โดย กรมอุตุนิยมวิทยา
การใช้งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ติดตามสภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net
หลังจากที่ทราบหลักการใช้ข้อมูลแต่ละประเภทในการติดตามสภาพอากาศด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้ว หากจะใช้ข้อมูลต่างๆ ร่วมกันผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net ก็สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ดังนี้ การเข้าสู่หน้าระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 1.ไปที่หน้า http://www.thaiwater.net ดังภาพที่ 9 2.หากต้องการใช้แผนที่ขนาดใหญ่ ให้ Click ที่ Full map เพื่อเข้าสู่หน้า http://www.thaifloodwatch.net/igis/ จะทำให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ดังแสดงผลตามภาพที่ 10 3.Click ที่ “ >> ” เพื่อเปิดหรือปิดเมนู ชั้นข้อมูล
ภาพที่ 9 หน้าหลักของเว็บไซต์ http://www.thaiwater.net ภาพที่ 10 หน้าเว็บไซต์ http://www.thaifloodwatch.net/igis/
1.เมนูชั้นข้อมูล ซึ่งสามารถ click ที่ “+” เพื่อแสดงรายละเอียดของชั้นข้อมูลย่อย โดยเมนูชั้นข้อมูลประกอบด้วยข้อมูลหลัก 7 ชั้นข้อมูล ได้แก่ 1)แผนที่พื้นฐาน เป็นเมนูที่ใช้เลือกรูปแบบการแสดงผลของแผนที่ในแต่ละประเภท เช่น แสดงผลในรูปแบบภาพถ่ายจากดาวเทียม การแบ่งเขตลุ่มน้ำ การแบ่งเขตจังหวัด เป็นต้น จากตัวอย่างในภาพที่ 11 แสดงแผนที่พื้นฐานในรูปแบบ Google Satellite ภาพที่ 11แสดงแผนที่พื้นฐานในรูปแบบ Google Satellite 2) โครงสร้างพื้นฐาน เป็นเมนูที่ใช้แสดงโครงสร้างพื้นฐานของแผนที่ เช่น ถนน ทางน้ำ ทางรถไฟ ลุ่มน้ำ ขอบเขตการปกครอง จากตัวอย่างในภาพที่ 12 เป็นการเลือกข้อมูลทางน้ำ และลุ่มน้ำ ภาพที่ 12 การเลือกข้อมูลในชั้นของโครงสร้างพื้นฐาน
3) พื้นที่เสี่ยงภัย เป็นเมนูที่ใช้เลือกเพื่อแสดงผลบริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม เป็นต้น จากตัวอย่างในภาพที่ 13 เป็นการเลือกแสดงผลพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มในภาคเหนือและภาคใต้ ภาพที่ 13 การเลือกข้อมูลในชั้นของพื้นที่เสี่ยงภัย
4) ติดตามสถานการณ์น้ำ เป็นเมนูที่ข้อมูลที่ใช้ในการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ประกอบด้วยเมนูย่อย 3 กลุ่ม คือ ข้อมูลน้ำในเขื่อน ภาพถ่ายดาวเทียม และภาพจากแบบจำลอง เมนูข้อมูลน้ำในเขื่อนแสดงตำแหน่งของเขื่อนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำล่าสุด ทั้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง โดยเป็นข้อมูลจากกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถคลิกที่สัญลักษณ์บนแผนที่เพื่อแสดงรายละเอียดเพิ่มเติม ตัวอย่างภาพที่ 14 เป็นการคลิกที่สัญลักษณ์ของเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 อยู่ที่ 4,902.00 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 36.41% ของความจุของอ่างเก็บน้ำ ตัวอย่างข้อมูลในกลุ่มภาพถ่ายดาวเทียม ได้แก่ ภาพความชื้นในดินจากหน่วยงาน AFWA ดังแสดงในภาพที่ 15
ภาพที่ 14 แสดงรายละเอียดของสถานีตรวจวัดน้ำท่าของกรมชลประทาน ภาพที่ 15 แสดงค่าความชื้นในดิน จาก AFWA 5) สถานีตรวจวัดระดับน้ำ เป็นเมนูที่ใช้แสดงผลข้อมูลจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำและเส้นทางน้ำสำคัญของกรมชลประทาน และ สสนก. โดยสถานีตรวจวัดของ สสนก. จะมีทั้งข้อมูลระดับน้ำและข้อมูลด้านภูมิอากาศ (ฝน อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเข้มแสง) จากตัวอย่างในภาพที่ 16 เป็นการเลือกข้อมูลโดยคลิกจากสัญลักษณ์บนแผนที่ของ สถานีน่าน7 ต.งิ้วราย อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ที่มีระดับน้ำ 24.63 ม.รทก. ระดับน้ำอยู่ในสภาวะน้ำน้อย นอกจากนี้สามารถคลิกที่สัญลักษณ์กราฟเพื่อแสดงข้อมูลย้อนหลัง ภาพที่ 16 แสดงการเตือนภัยน้ำท่วมของแต่ละสถานีตรวจวัดระดับน้ำของ สสนก.
6) สถานีตรวจวัดปริมาณฝน เมนูนี้ประกอบด้วยข้อมูลปริมาณฝนตรวจวัดจริงในหลายรูปแบบ คือ
จากตัวอย่างในภาพที่ 17 เป็นการเลือกข้อมูลปริมาณฝนย้อนหลัง 1 วันจากสถานีกรมอุตุนิยมวิทยา โดยผู้ใช้สามารถคลิกที่ไอคอนบนแผนที่เพื่อแสดงรายละเอียดของแต่ละสถานีได้ ตัวอย่างเป็นสถานีสุรินทร์ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 พบว่า ปริมาณฝนย้อนหลัง 1 วัน เท่ากับ 36 มิลลิเมตร
ภาพที่ 17 แสดงปริมาณฝนสะสมย้อนหลัง 1 วัน ของสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา
7)ข้อมูลน้ำในเขื่อน เป็นเมนูที่ใช้แสดงตำแหน่งของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง โดยเป็นข้อมูลจากกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สามารถ click ที่สัญลักษณ์บนแผนที่เพื่อแสดงรายละเอียดเพิ่มเติม จากตัวอย่างในภาพที่ 18 แสดงข้อมูลอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยมีการ click ที่สัญลักษณ์ในแผนที่ ซึ่งแสดงรายละเอียดปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บปัจจุบันอยู่ที่ 6,926 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 51% เมื่อเทียบกับระดับกักเก็บ
2.เครื่องมือสำหรับเลื่อนแผนที่ สามารถเลื่อนจากซ้ายไปขวา และจากบนไปล่าง ภาพที่ 18 แสดงเครื่องมือการใช้งานแผนที่
3. เครื่องมือสำหรับย่อขยายแผนที่ อาจเลือกใช้เครื่องมือบนแผนที่หรือใช้การเลื่อน scroll ที่เมาส์ก็ได้ ภาพที่ 19 ภาพก่อนและหลังการใช้เครื่องมือย่อขยายแผนที่
4.เครื่องมือสำหรับเคลื่อนย้ายแผนที่อย่างอิสระ โดยนำเมาส์ไปวางในบริเวณกรอบสีแดง click เมาส์ค้างไว้ แล้วเลื่อนเมาส์แบบอิสระ แผนที่จะเคลื่อนย้ายตามการเคลื่อนย้ายเมาส์ ภาพที่ 20 การใช้เครื่องมือสำหรับเคลื่อนย้ายแผนที่อย่างอิสระ
ตัวอย่างการใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละชั้นข้อมูล จากภาพที่ 21 เป็นการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างข้อมูลปริมาณฝนย้อนหลัง 24 ชั่วโมงจากสถานีตรวจวัดของกรมชลประทาน และ AIS กับข้อมูลภาพเมฆจากเมนูชั้นข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อใช้วิเคราะห์ปริมาณฝนที่ตกและปริมาณเมฆที่เกิดขึ้น ช่วยในการสอบยันว่าฝนที่ตกในแต่ละพื้นที่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ภาพที่ 21 การใช้ข้อมูลร่วมกันในแต่ละชั้นข้อมูล
หน่วยงานและแหล่งข้อมูลเตือนภัย
ภาคผนวก ก: เกณฑ์และความหมายของข้อมูลอุตุนิยมวิทยา
ความเร็วลมที่ระดับสูงมาตรฐาน 10 เมตร เหนือพื้นดินในบริเวณที่โล่งแจ้ง
เกณฑ์จำนวนเมฆในท้องฟ้า โดยแบ่งท้องฟ้าเป็น 10 ส่วน
บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ ในแผนที่อากาศผิวพื้นแสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลม หรือเป็นวงรีรูปไข่ล้อมรอบบริเวณที่มีความกดอากาศสูง นั่นคือ บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน จะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูงขึ้นจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศสูง หรือแอนติไซโคลนนี้จะมีกระแสลมพัดออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศสูง หรือแอนติไซโคลนเช่นนี้ เรียกว่า Anticyclonic Circulation โดยทั่วไปในบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนลมอ่อน และลมมักสงบในบริเวณใกล้ศูนย์กลาง มีเมฆเพียงเล็กน้อย แต่อาจมีเมฆมากกับมีฝนได้ตามขอบของบริเวณความกดอากาศสูง หรือ แอนติไซโคลนที่อยู่ใกล้กับแนวปะทะอากาศ ในซีกโลกเหนือ ทางตะวันออกของบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน อากาศจะเย็นที่ผิวพื้นและเป็นลมฝ่ายเหนือพัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Cold High ส่วนทางด้านตะวันตก อากาศจะค่อนข้างร้อนและเป็นลมฝ่ายใต้พัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Warm High บริเวณความกดอากาศสูงหรือ แอนติไซโคลนชนิด Cold High แผ่ลงมาเมื่อไร อากาศจะหนาวเย็น ส่วน Warm High อากาศจะร้อนเนื่องจากลมพัดมาจากทางใต้ แม้ว่าจะมีความชื้นสูงแต่ไม่มีฝนตก จะทำให้อากาศร้อนอบอ้าว บางครั้งเรียกว่า คลื่นความร้อน (Heat Wave) บริเวณความกดอากาศต่ำ คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ ในแผนที่อากาศผิวพื้นแสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลมล้อมรอบบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำ จะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำลงจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศต่ำนี้จะมีกระแสลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศต่ำเช่นนี้ เรียกว่า Cyclonic Circulation ตามปกติในบริเวณความกดอากาศต่ำจะมีเมฆมากและมีฝนตกด้วย บริเวณความกดอากาศต่ำ แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ 1.Cold Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะต่ำกว่าภายนอก และเกิดในแถบละติจูดสูงๆ ที่อากาศเย็น เมื่อเกิดขึ้นแล้วการหมุนเวียนจะต่อเนื่องกัน ความชันของความกดจะเพิ่มมากขึ้นตามความสูงซึ่งสัมพันธ์กับกระแสลม นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Cold Core จะมีลมพัดแรงขึ้นตามความสูง และมักมีแนวปะทะอากาศเกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ 2.Warm Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะร้อนกว่าภายนอก การหมุนเวียนจะเหมือนกับชนิด Cold Core และมีเฉพาะในเขตร้อนเท่านั้น เนื่องจากแกนกลางร้อน ฉะนั้น อากาศที่เย็นกว่าจะพัดเข้าแทนที่จมเข้าหาศูนย์กลาง ทำให้เกิดกระแสลมพัดเวียนเป็นก้นหอยเข้าหาศูนย์กลาง ขณะเดียวกันอากาศตรงกลางจะลอยตัวขึ้น ความชันของความกดตามระดับความสูงจะลดลง นั่นคือ ลมที่พัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางรอบบริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Warm Core ความเร็วลมจะลดลงตามความสูง พายุจะรุนแรงที่สุดที่ผิวพื้นเท่านั้น สูงขึ้นไปลมกำลังอ่อนลง โดยบริเวณความกดอากาศต่ำทั้ง 2 ชนิด เกิดฝนตกหนักเท่าๆ กัน แต่ความเร็วลมจะต่างกัน
ภาคผนวก ข: กรณีตัวอย่างจากบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม
ที่มา : ตัดเฉพาะส่วนมาจากรายงานสรุปสถานการณ์สาธารณภัยประจำสัปดาห์ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย http://www.disaster.go.th/ การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ 1.ภาพคาดการณ์ลมและฝน ภาพที่ ข-1 ภาพคาดการณ์ลมจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554 ภาพที่ ข-2 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554
จากภาพที่ ข-1 และ ข-2 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2554 จะมีลมแรงและฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตลอดช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง
2. ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9 ภาพที่ ข-3 ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554
จากภาพที่ ข-3 พบว่ามีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณภาคใต้ตลอดช่วง เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ 3. ภาพแผนที่อากาศ ภาพที่ ข-4 ภาพแผนที่อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554 จากภาพที่ ข-4 พบว่า มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ 4. ภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล ภาพที่ ข-5 ภาพความสูงและทิศทางของคลื่นทะเล ช่วงวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2554 จากภาพที่ ข-5 พบว่าบริเวณฝั่งอ่าวไทยมีคลื่นแรงตลอดช่วง โดยทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และพัดเข้าฝั่งตลอดช่วง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัด จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมกำลังแรงปกคลุมบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติพัฒนาโดยสสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-6 และ ข-7 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในภาคใต้จริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์ ภาพที่ ข-6 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติพัฒนาโดยสสนก. ช่วงวันที่ 26 - 29 มี.ค. 2554 ภาพที่ ข-7 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 26 - 29 มี.ค. 2554 โดยกรมอุตุนิยมวิทยา
ตัวอย่างที่ 2 น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุนกเตน ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมปี 2554 สถานการณ์อุทกภัย (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554) พื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) รวม 30 จังหวัด 259 อำเภอ 1,772 ตำบล 14,856 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ สุโขทัย น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครพนม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร เลย เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชัยนาท ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,041,639 ครัวเรือน 3,578,168 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 19 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 4,566 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 2,235,626 ไร่ ถนน 5,857 สาย ท่อระบายน้ำ 707 แห่ง ฝาย 664 แห่ง ทำนบ 123 แห่ง สะพาน/คอสะพาน 466 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 24,274 บ่อปศุสัตว์ 164,253 ตัว มีผู้เสียชีวิต 46 ราย ที่มา : ตัดมาเฉพาะบางส่วนของรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN) และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม - 25 สิงหาคม 2554) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย http://www.disaster.go.th/ การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ 1. ภาพคาดการณ์ลมและฝน ภาพที่ ข-8 ภาพคาดการณ์ลมจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554 ภาพที่ ข-9 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554 จากภาพที่ ข-8 และ ข-9 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554 จะมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะในวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตนที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย 2. ภาพเส้นทางพายุ ภาพที่ ข-10 ภาพคาดการณ์เส้นทางพายุนกเตนช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 จากภาพที่ ข-10 พบว่า ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ดีเปรสชั่นบริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "นกเตน" (Nock-ten) ซึ่งมีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลาง สูงสุด 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวอยู่ห่างจากจังหวัดกามารินส์ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 100 กิโลเมตร โดยกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ และมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าสู่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนามในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 3. ภาพถ่ายจากดาวเทียม GOES9 ภาพที่ ข-11 ภาพเมฆจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554. จากภาพที่ ข-11 พบว่า มีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณตอนบนของประเทศ เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตน และร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ 4. ภาพแผนที่อากาศ ภาพที่ ข-12 ภาพแผนที่อากาศ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 จากภาพที่ ข-12 พบว่า ในช่วงวันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2554 พายุโซนร้อน "นกเตน" (Nock-ten) ได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชั่นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงใหม่และแม่ฮ่อนสอน ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงในอดีต จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 เนื่องจากอิทธิพลของพายุนกเตน ประกอบกับมีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่พัฒนาโดย สสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-13 และ ข-14 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์ ภาพที่ ข-13 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 โดย สสนก. ภาพที่ ข-14 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2554 โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ตัวอย่างที่ 3 น้ำท่วมภาคตะวันออก จากร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง ช่วงกลางเดือนกันยายน 2555 การคาดการณ์และติดตามสภาพอากาศ 1. ภาพคาดการณ์ฝน ภาพที่ ข-15 ภาพคาดการณ์ฝนจากแบบจำลอง WRF ช่วงวันที่ 14 - 16 กันยายน 2555 จากภาพที่ ข-15 คาดการณ์ได้ว่า ช่วงวันที่ 14 - 16 กันยายน 2553 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกตลอดช่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด 2. ภาพถ่ายดาวเทียม GOES9 ภาพที่ ข-16 ภาพเมฆจากดาวเทียม GOES9 ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555 จากภาพที่ ข-16 พบว่า มีกลุ่มเมฆปกคลุมหนาแน่นบริเวณตอนกลางของประเทศตลอดช่วง เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณดังกล่าวตลอดช่วง ทำให้พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ 3. ภาพแผนที่อากาศ ภาพที่ ข-17 ภาพแผนที่อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยาย 2555 จากภาพที่ ข-17 พบว่า มีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านบริเวณตอนกลางของประเทศตลอดช่วง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงในอดีต จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2555 เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนพาดผ่านบริเวณตอนกลางของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ฝนและติดตามสภาพอากาศ แสดงให้เห็นว่าจะมีฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว โดยเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตรวจวัดปริมาณน้ำฝนจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติที่พัฒนาโดย สสนก. และสถานีตรวจอากาศกรมอุตุนิยมวิทยา (ภาพที่ ข-18 และ ข-19 ตามลำดับ) พบว่า มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกจริงสอดคล้องกับผลการคาดการณ์ ภาพที่ ข-18 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555 โดย สสนก. ภาพที่ ข-19 ข้อมูลปริมาณฝนจากสถานีตรวจอากาศ ช่วงวันที่ 14 - 17 กันยายน 2555 โดย กรมอุตุนิยมวิทยา
|
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2016 เวลา 14:24 น. |