Home รายงานรายสัปดาห์ย้อนหลัง
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 32/2565 (ระหว่างวันที่ 2-8 ส.ค. 65)

ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5-8 ส.ค. 65 ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกระจายตัวเป็นบริเวณกว้างบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เนื่องมาจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทะเลอ่าวไทย และประเทศไทยมีกำลังแรง ซึ่งวัดปริมาณฝนสะสม 4 วัน สูงสุดได้ที่จังหวัดตราด สูงถึง 371 มิลลิเมตร จันทบุรี 276 มิลลิเมตร และหนองคาย 175 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังบริเวณจังหวัดเชียงราย ลําปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์เลย มหาสารคาม ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด รวม 17 อำเภอ 35 ตำบล 96 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 362 ครัวเรือน

Attachments:
Download this file (20220808_Predict_SendRid.pdf)20220808_Predict_SendRid.pdf[ ]4693 Kb
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 สิงหาคม 2022 เวลา 17:11 น.
 
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 31/2565 (ระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 65)

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงต้นสัปดาห์ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง หลังจากนั้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และทะเลอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

Attachments:
Download this file (20220801_Predict_SendRid.pdf)20220801_Predict_SendRid.pdf[ ]4338 Kb
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 02 สิงหาคม 2022 เวลา 14:09 น.
 
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 30/2565 (ระหว่างวันที่ 19-25 ก.ค. 65)

ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงรวมทั้งเกิดการเหนี่ยวนำให้หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ช่วงค่ำของวันที่ 20 ก.ค. 65 จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค. 65 เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งพื้นที่รวมเป็นฝนรายวันมากถึง 51% เมื่อเทียบกับค่าปกติของฝนกรุงเทพมหานครในเดือนกรกฎาคมทั้งเดือน โดยมีฝนตกหนักสุดที่เขตมีนบุรีและเขตวัฒนา ตรวจวัดปริมาณฝนตกหนักได้มากที่สุดถึง 165 มิลลิเมตร ทั้งสองเขต รองลงมาคือบริเวณเขตสะพานสูงที่ตรวจวัดฝนได้ 163 มิลลิเมตร (ปริมาณฝนสะสมช่วงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค. 65 ถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 65) หากนับเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกหนัก พบว่ามีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติทั้งเดือนของเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังพบว่าที่เขตบางนาช่วงเวลา 21.00 น. เกิดฝนตกหนักมีความเข้มถึง 90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเข้มฝน (intensity) เกินศักยภาพในการระบายของระบบระบายน้ำที่ออกแบบไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณเขตวัฒนา สะพานสูง ดินแดง วังทองหลาง และคลองเตย

Attachments:
Download this file (20220725_Predict_SendRid.pdf)20220725_Predict_SendRid.pdf[ ]4625 Kb
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 26 กรกฏาคม 2022 เวลา 18:25 น.
 
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 29/2565 (ระหว่างวันที่ 12-18 ก.ค. 65)

ช่วงวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร เลย ตราด จันทบุรี ระนอง และภูเก็ต รวม 26 อำเภอ 49 ตำบล 125 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเสียหาย 231 ครัวเรือน และผู้เสียชีวิต 1 ราย (จังหวัดนครราชสีมา) เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กําลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทําให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก ซึ่งในพื้นที่ประสบอุทกภัยมีปริมาณฝนสะสม 3 วันสูงสุด 10 อันดับแรก (11-13 กรกฎาคม 2565) ได้แก่ จังหวัดระนอง 217 มิลลิเมตร นครราชสีมา 216 มิลลิเมตร ตราด 187 มิลลิเมตร บุรีรัมย์ 175 มิลลิเมตร เลย 149 มิลลิเมตร อำนาจเจริญ 119 มิลลิเมตร ขอนแก่น 109 มิลลิเมตร สุรินทร์ 98 มิลลิเมตร เพชรบูรณ์ 96 มิลลิเมตร และอุบลราชธานี 95 มิลลิเมตร ทั้งนี้จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงกว่า 2-3 เมตร ส่งผลให้ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ได้เกิดน้ำทะเลหนุนสูงเข้าท่วมพื้นที่ถนนบริเวณสะพานใหม่เลียบชายทะเลบริเวณอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี สูงกว่า 30-50 เซนติเมตร และบริเวณเทศบาลตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เกิดน้ำทะเลหนุนสูงเข้าท่วมพื้นที่ โดยสูงกว่า 50 เซนติเมตร

Attachments:
Download this file (20220718_Predict_SendRid.pdf)20220718_Predict_SendRid.pdf[ ]4863 Kb
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 09 สิงหาคม 2022 เวลา 17:09 น.
 
รายงานข้อมูลน้ำรายสัปดาห์ ครั้งที่ 28/2565 (ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ค. 65)

ช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. 65 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมและดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา จันทบุรี ชุมพร และระนอง รวมพื้นที่ 4 อำเภอ 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย และมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดที่มีปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 100 มิลลิเมตร ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครนายก ลพบุรี ปราจีนบุรี ตราด ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา ทั้งนี้จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และมีคลื่นสูงกว่า 3 เมตร บริเวณที่ฝนตก โดยปัจจัยที่ทำให้ฝนในช่วงนี้มีค่าสูงกว่าปกติ เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ลมค้ามีกำลังแรง อุณหภูมิน้ำทะเลในแปซิฟิกตะวันออกมีค่าเป็นลบ (ดัชนี ONI เป็นลบ:ลานีญา) ดัชนี PDO เป็นลบ และปรากฎการณ์ MJO มีกำลังค่อนข้างแรงตั้งแต่วันที่ 2-8 ก.ค. 65 ให้เกิดการแปรปรวนของสภาพอากาศ ประกอบกับเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ และร่องมรสุมปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก 2) ลมมรสุมด้านมหาสมุทรอินเดียมีกำลังแรงและอุณหภูมิผิวน้ำทะเลฝั่งอินเดียตะวันออกสูงกว่าฝั่งตะวันตก (ดัชนี DMI เป็นลบ) ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง

Attachments:
Download this file (20220711_Predict_SendRid.pdf)20220711_Predict_SendRid.pdf[ ]5133 Kb
 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 ถัดไป > สุดท้าย >>

หน้า 15 จาก 84
Home รายงานรายสัปดาห์ย้อนหลัง