สรุปสถานการณ์และประเด็นข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554



ปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ต้นปีและยืดเยื้อจนถึงปลายปี พื้นที่ประสบภัยกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลานานหลายเดือน กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 70 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2485 อุทกภัยครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานความเสียหายจากมหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์นี้ โดยมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 74 จังหวัด รวม 844 อำเภอ 5,919 ตำบล 53,380 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 16,224,302 คน 5,247,125 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1,026 คน บาดเจ็บ 33 คน มีบ้านพังทั้งหลัง 2,632 หลัง บ้านพังบางส่วนอีก 477,595 หลัง นอกจากนี้ยังมีอาคารพาณิชย์ 4,011 แห่ง โรงงาน 1,823 แห่ง วัด/โรงเรียน 4,563 แห่ง ปศุสัตว์ 2,263,408 ตัว พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 11,798,241 ไร่ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 23,839 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์พื้นที่น้ำท่วมโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าในปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 31.45 ล้านไร่ กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุม 72 จังหวัด 763 อำเภอ 5,296 ตำบล




ข้อเท็จจริงและสาเหตุของการเกิดอุทกภัย


1. สภาวะอากาศและปริมาณฝน
           ปี 2554 เป็นปีที่ฝนมาเร็วและปริมาณฝนมากกว่าปกติค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งนับว่าเร็วกว่าปกติ ปริมาณฝนรวมทั้งปีสูงถึง 1,826 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าปกติ 25% และยังมากกว่าปี 2538 2545 และ 2549 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยรุนแรงอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้การกระจายตัวของกลุ่มฝนตกหนักที่เกิดขึ้นในปี 2554 ยังครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างกว่าปีอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีฝนตกหนักเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงในครั้งนี้ เนื่องจากน้ำจากภาคเหนือส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่าภาคอื่น ซึ่ง 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปี 2554 มีฝนตกมาก ประกอบด้วย
              
  • พายุ 5 ลูก ได้แก่ 1) พายุโซนร้อน “นกเต็น” (NOCK-TEN) ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่านในขณะที่ลดระดับลงเป็นพายุดีเปรสชัน 2) พายุโซนร้อน “ไหหม่า” (HAIMA) 3) พายุโซนร้อน “ไห่ถาง” (HAITANG) ที่สลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย 4) พายุไต้ฝุ่น “เนสาด” (NESAT) และ 5) พายุไต้ฝุ่น “นาลแก” (NALGAE) ที่ถึงแม้จะสลายตัวไปในบริเวณประเทศเวียดนาม แต่อิทธิพลของพายุยังคงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น
  •           
  • ร่องมรสุม ที่พาดผ่านประเทศไทยระยะ ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะบริเวณตอนบนและตอนกลางของประเทศที่การพาดผ่านในแต่ละครั้งของร่องมรสุมมักเกิดขึ้นยาวนาน โดยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเกิดร่องมรสุมพาดผ่านเกือบตลอดทั้งเดือน ส่งผลให้มีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่
  •           
  • ปรากฎการณ์ลานีญาที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ปรากฎการณ์ลานีญาได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 และดำเนินต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2554 โดยมีกำลังแรงในช่วงปลายปี 2553 หลังจากนั้นได้ลดระดับเป็นลานีญากำลังปานกลางและกำลังอ่อนในช่วงต้นปี 2554 จากนั้นได้เข้าสู่สภาวะเป็นกลางช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และกลับมาเป็นสภาวะลานีญากำลังอ่อนและกำลังปานกลางอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 โดยคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2555 ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2553 จนถึงกลางปี 2554 นอกจากนี้ยังส่งผลให้เดือนมีนาคม 2554 มีฝนตกมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ฝนตกมากที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ เพราะโดยปกติแล้วประเทศไทยมักจะเริ่มมีฝนตกมากประมาณเดือนพฤษภาคม

กราฟแสดงปริมาณฝนสะสมรายเดือนตลอดปี 2554 และปัจจัยที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก


2. ปริมาณน้ำในเขื่อนและลำน้ำ


2.1 เขื่อนมีน้ำมากเป็นประวัติการณ์ แต่ไม่สามารถระบายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในปี 2554 ประเทศไทยประสบกับปริมาณฝนตกสูงกว่าปกติในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่งรับน้ำในปริมาณมหาศาล โดยตลอดทั้งปีมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนสะสมรวมกันมากถึง 71,769 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง โดยในปี 2554 ทั้ง 3 เขื่อน มีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงกว่าปี 2538 และ 2549 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอดีต

เขื่อนส่วนใหญ่ของประเทศมีน้ำไหลเข้ามาก แต่กลับมีอุปสรรคในการระบายน้ำเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะปัญหาการเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนเนื่องจากฝนตกหนัก รวมถึงสภาวะน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ 21 จาก 33 เขื่อน เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อน (ปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บปกติ) และถึงแม้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะไม่เกิดสถานการณ์น้ำล้นเขื่อน แต่ก็จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำผ่านทางน้ำล้น (spillway) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักสำหรับ 2 เขื่อนนี้

ทั้งนี้ แม้เขื่อนต่าง ๆ จะประสบปัญหาในการระบายน้ำ แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากเกินศักยภาพของเขื่อน จึงจำเป็นต้องมีการระบายออกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเพิ่มและลดการระบายเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์

โดยสรุปทั้งปีมีการระบายน้ำออกจากทุกเขื่อนรวมกันสูงถึง 56,241 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกันกับปริมาณน้ำไหลเข้าทั้งปี ถึงแม้จะมีการระบายน้ำออกไปในปริมาณมาก แต่ ณ สิ้นปี ปริมาณน้ำกักเก็บรวมทุกเขื่อนยังคงเหลือมากถึง 61,097 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 87% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้จริง 37,591 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังคงมีสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนเกิดขึ้นอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ และเขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา อีกทั้งยังมีเขื่อนอีก 18 แห่งที่มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลืออยู่ในเกณฑ์น้ำมาก


ภาพระดับน้ำและการระบายน้ำผ่าน spillway ของเขื่อนภูมิพลในช่วงเดือนตุลาคม 2554


2.2 น้ำในลำน้ำมีมากเกินไป
          ในปี 2554 แทบทุกลำน้ำของประเทศมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเหตุการณ์น้ำมากตามจุดสำคัญต่าง ๆ มีดังนี้
          1) สถานี C.2 ค่ายจิรประวัติ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ประสบกับปริมาณน้ำมหาศาล โดยในปี 2554 มีปริมาณน้ำรวมสูงถึง 48,615 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปีที่เกิดอุทกภัยรุนแรงในอดีตอย่างปี 2538 2545 และ 2549 อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากแม่น้ำทั้งสี่สายที่เป็นต้นน้ำต่างมีปริมาณน้ำมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน



          2) แม่น้ำยมมีน้ำมากแต่ไม่สามารถหน่วงน้ำไว้ได้ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในครั้งนี้ จากการตรวจวัดปริมาณน้ำบริเวณท้ายแม่น้ำยม ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พบว่ามีปริมาณน้ำตลอดทั้งปีมากถึง 12,375 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปี 2538 2545 และ 2549 ที่เคยเกิดอุทกภัยรุนแรงครั้งใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมากกว่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี



          3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีน้ำไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่ต้องรับมวลน้ำจำนวนมากทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่ถูกน้ำท่วมบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เปรียบเทียบระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม 2554

          4) น้ำล้นประตูระบายน้ำคลองข้าวเม่าเข้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เกิดจากน้ำที่ไหลมารวมกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดมวลน้ำไหลย้อนกลับเข้าไปในคลองข้าวเม่าจนล้นข้ามประตูระบายน้ำคลองข้าวเม่าเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ก่อนจะไปรวมกับมวลน้ำที่ล้นมาจากแม่น้ำป่าสัก แล้วไหลต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมนวนคร สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และไหลเข้าสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานครในที่สุด
ภาพน้ำท่วมบริเวณนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
ภาพน้ำไหลจากนวนครกำลังจะเข้ารังสิตเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2554


2.3 น้ำทะเลหนุนสูง อุปสรรคสำคัญต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ
          ในช่วงปลายเดือนตุลาคม กลางเดือนและปลายเดือนพฤศจิกายน เกิดน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ส่งผลให้การระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขังยาวนานออกไปอีก โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมยาวนานหลายเดือน จากการตรวจวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่สถานีกองบัญชาการกองทัพเรือ (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) พบว่าช่วงปลายเดือนตุลาคม ระดับน้ำสูงสุด อยู่ที่ 2.53 เมตร ในวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 2.41 เมตร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ต่อมาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ได้เกิดน้ำทะเลหนุนอีกครั้ง แต่มีระดับน้ำต่ำกว่าช่วงปลายเดือนตุลาคมและช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน


3. สภาพพื้นที่และโครงสร้างน้ำ

ข้อเท็จจริงสำคัญของสภาพพื้นที่และโครงสร้างทางน้ำที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในปี 2554 มีดังนี้
          3.1 ข้อจำกัดด้านศักยภาพการรับน้ำของลุ่มน้ำยม นอกจากลุ่มน้ำยมจะมีน้ำมากเป็นประวัติการณ์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกประเด็นสำคัญคือการขาดเขื่อนขนาดใหญ่หรือพื้นที่หน่วงน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยชะลอมวลน้ำจำนวนมหาศาลเอาไว้ได้ ส่งผลให้น้ำเกือบทั้งหมดไหลลงมายังพื้นที่ตอนล่างโดยทันทีโดยไม่สามารถควบคุมปริมาณได้
          3.2 การพังทลายของประตูระบายน้ำบางโฉมศรี เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่จังหวัดลพบุรีมากเกินไป และมวลน้ำทั้งหมดได้ไหลวกกลับเข้ามายังอำเภอพระนครศรีอยุธยาผ่านทางแม่น้ำลพบุรี
ภาพถ่ายความเสียหายของประตูระบายน้ำบางโฉมศรีในช่วงเกิดอุทกภัยปี 2554

ผังเส้นทางน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ตำแหน่งประตูระบายน้ำและจุดตรวจวัดน้ำสำคัญ

          3.3 สาเหตุมาจากการทรุดตัวของพื้นที่ การขาดการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพื้นที่รองรับน้ำหลากของกรุงเทพมหานครที่ถูกพัฒนาเป็นหมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่อุตสาหกรรม ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่อยู่ทางด้านเหนือกรุงเทพมหานคร บริเวณอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เขตสายไหม และเขตคลองสามวา ไม่สามารถระบายผ่านคลองต่าง ๆ ไปยังสถานีสูบน้ำชายทะเลได้
          3.4 โครงสร้างทางน้ำที่ขาดความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์ฝนปัจจุบันมีความแปรปรวนสูงทั้งในเชิงปริมาณ เชิงพื้นที่ และเชิงเวลา จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาหรือฟื้นฟูโครงสร้างทางน้ำให้สามารถรองรับสถานการณ์ฝนที่เปลี่ยนไป
          3.5 ระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างศักยภาพของการส่งน้ำเข้าสู่สถานีสูบกับศักยภาพของสถานีสูบเอง ในขณะที่สถานีสูบสามารถสูบน้ำออกได้มาก แต่กลับไม่มีน้ำเพียงพอให้สูบเนื่องจากน้ำไหลเข้ามาไม่ทัน
          3.6 ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำและการขาดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง สิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนที่รุกล้ำทางน้ำ รวมถึงการขาดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่คลองระบายน้ำสำคัญ เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ถูกรุกล้ำจนเหลือความกว้างเพียงครึ่งเดียว

บ่อบำบัดน้ำเสียกีดขวางทางน้ำบริเวณคลองบางซื่อ
ภาพบ้านเรือนประชาชนรุกล้ำลำน้ำบริเวณคลองสอง-บางบัว-ลาดพร้าว

          3.7 ปัญหาจากสะพานที่กลายเป็นสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ ทั้งตอหม้อสะพานที่มีขนาดใหญ่เกินไป ช่องว่างระหว่างเสาสะพานไม่อยู่ในทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำ รวมทั้งสะพานที่อยู่ในแหล่งชุมชนเกือบทุกแห่ง ที่พบปัญหาช่องระหว่างเสาของสะพานที่อยู่ติดริมน้ำทั้งสองฝั่งมักถูกรุกล้ำจนกีดขวางการไหลของน้ำ และเหลือเพียงช่องเสาสะพานที่อยู่ตรงช่วงกลางสะพานเท่านั้นที่สามารถใช้ระบายน้ำได้

ภาพถ่ายบริเวณคลองสอง-บางบัว-ลาดพร้าว ที่บริเวณใต้สะพานทั้งสองฝั่งมีบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำ



          3.8 ปัญหาอันเนื่องมาจากการสร้างพนังและคันกั้นน้ำในพื้นที่ย่อย ประชาชนและองค์กรส่วนย่อยมีการสร้างพนังและคันกั้นน้ำเป็นของตนเอง โดยขาดการบูรณาการในภาพรวม ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ ไม่สามารถระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชาวบ้านนบริเวณคลองบ้านใหม่นำแผ่นเหล็กมาปิดกั้นน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่ของตนเอง

          3.9 การเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำ/span> คุณภาพของผืนป่า โดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำที่เสื่อมโทรมลง ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำหรือชะลอการไหลของน้ำมีศักยภาพต่ำ
          3.10 การละเลยและรุกล้ำพื้นที่หน่วงน้ำบริเวณภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่รับน้ำสำคัญในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ขาดการดูแลรักษาและถูกรุกล้ำ ทำให้ความจุน้ำลดลงมาก ไม่สามารถช่วยชะลอน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และบึงสีไฟ จ.พิจิตร

4. การบริหารจัดการน้ำ

          4.1 การผันน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพสูงสุด การระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น ปัญหาของประตูระบายน้ำพลเทพและประตูระบายน้ำบรมธาตุ ที่ไม่สามารถเปิดประตูเพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันตกได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยในบางครั้งแม้ปริมาณน้ำเหนือประตูระบายน้ำจะเพิ่มขึ้นมาก แต่กลับมีการลดอัตราการระบายลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน ทั้งนี้แม้จะมีบางช่วงเวลาที่มีการเพิ่มอัตราการระบายน้ำให้มากขึ้น แต่กลับต้องจำกัดปริมาณน้ำให้ไหลอยู่เฉพาะในลำน้ำ เพื่อไม่ให้สถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น




          4.2 ปัญหาการผันน้ำเข้าทุ่ง การบริหารจัดการน้ำโดยใช้ทุ่งเป็นแก้มลิงชะลอน้ำไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          4.3 ประตูระบายน้ำพระนารายน์ระบายน้ำไม่เต็มศักยภาพ ปริมาณน้ำระบายจำนวนมากจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ถูกผันเข้าคลองระพีพัฒน์แยกใต้ผ่าน ปตร.พระนารายน์ อย่างไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลไปตามแม่น้ำป่าสักเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยาผ่านทางเขื่อนพระรามหก




          4.4 ปัญหาการจัดการน้ำในคลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์มีน้ำมาก แต่ไม่สามารถผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันออกได้ ในทางกลับกันเรือกสวนไร่นาที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ทำให้คลองระพีพัฒน์ต้องรับน้ำมากเกินไป

ภาพการสูบน้ำจากลำน้ำสาขาและเรือกสวนไร่นาลงสู่คลองระพีพัฒน์
ภาพการสูบน้ำจากลำน้ำสาขาและเรือกสวนไร่นาลงสู่คลองระพีพัฒน์
คลองระพีพัฒน์ 23 ต.ค.2554

          4.5 ปัญหาการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำล่าช้าจากความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปัญหาการตัดสินใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการผันน้ำ การระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย ที่มีความล่าช้านั้น มักเกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อของพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ