มรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา / สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

ปี 2554 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนตุลาคม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม 2554 รายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

เดือนพฤษภาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ตั้งแต่ต้นเดือน ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2554

เดือนมิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดทั้งเดือน โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ

เดือนกรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมเกือบตลอดเดือน โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนที่อิทธิพลของพายุโซนร้อน "นกเต็น" (NOCK-TEN) ส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น

เดือนสิงหาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดเดือน ทำให้บริเวณตอนบนของประเทศมีฝนตกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนทำให้มีน้ำท่วมเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่

เดือนกันยายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดเดือน

เดือนตุลาคม ในระยะครึ่งแรกของเดือนมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทย อีกทั้งมีพายุไต้ฝุ่น “เนสาด” (NESAT) และพายุไต้ฝุ่น “นาลแก” (NALGAE) ได้เคลื่อนเข้ามาสลายตัวบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงเกือบตลอดช่วงครึ่งเดือนแรก ส่วนในระยะครึ่งหลังของเดือนบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกชุกในระยะครึ่งแรก จากนั้นปริมาณฝนและอุณหภูมิได้ลดลงเนื่องจากได้เข้าสู่ฤดูหนาว



ภาพตัวอย่างแผนที่ความเร็วลม ที่ระดับ 1.5 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเล จากแบบจำลองสภาพอากาศ WRF ช่วงวันที่ 29 - 31 กรกฎาคม 2554 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "นกเต็น" ส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น โดยความเร็วลมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554

29/7/2554
30/7/2554
31/7/2554